ครูลำยอง วิศุภกาญจน์

ลำยอง วิศุภกาญจน์
ลำยอง_วิศุภกาญจน์
ครูลำยองในวัยหนุ่ม
เกิด ภูเก็ต
เสียชีวิต สุราษฎร์ธานี
สัญชาติ ไทย
ชื่ออื่น ครูลำยอง
อาชีพ ครู
รู้จักในสถานะ ครูผู้มีความกล้าหาญ

            ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นบุตรของนายแดง นางย้อย วิศุภกาญจน์
ภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวจังหวัดภูเก็ต

การศึกษา

            ครูลำยองเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนปลูกปัญญา และเริ่มเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จังหวัดภูเก็ต จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ต่อจากนั้นได้เข้ากรุงเทพฯ ศึกษาต่อวิชาครูประกาศนียบัตรครูประโยคประถม (ป.ป.) และได้เริ่มรับราชการครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้มา ดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนสุราษฎร์ธานี

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์

            ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพเรือญี่ปุ่นได้มุ่งตรงเข้าสู่อ่าว บ้านดอนและบุกขึ้นตลาดบ้านดอน ในวันนั้นได้มีประชาชนจำนวนมากประกอบพิธีวันฉลองรัฐธรรมนูญที่หน้าศาลากลาง จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อทราบข่าวการบุกขึ้นตลาดบ้านดอนจึงเกิดความวุ่นวาย ขึ้น บางคนได้หนีเอาตัวรอดแต่บางคนก็พร้อมที่จะสู้ศึก ทางด้านคลังแสงได้แจกจ่ายอาวุธแก่บรรดาผู้รักชาติในครั้งนี้ ในกลุ่มนี้ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ เป็นผู้หนึ่งรวมอยู่ด้วยโดยได้รับแจกปืนพระรามหกพร้อมกระสุนออกสู้รบต้านทาน ทหารญี่ปุ่นก่อนมีการสู้รบได้มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น ครูลำยองซึ่งประจำแนวรบทางด้านปีกขวา ได้ใช้รั้วสังกะสีเป็นที่กำบังใช้ปืนยิงทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหลายคน เมื่อทหารญี่ปุ่นบุกหนักทางปีกซ้ายครูลำยองหาทางออกไม่ได้ เพราะมีรั้วสังกะสีกั้นอยู่จึงโผล่ศีรษะขึ้นขณะประทับปืนบนไหล่ทำให้ทหาร ญี่ปุ่นยิงท่านถูกที่หน้าผาก และท่านก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 11.15 นาฬิกาของวันเดียวกัน

ststt 18125_471141556261592_1777665907_n

 

อนุสรณ์ครูลำยองที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี

การรำลึก

                การสู้รบของครูลำยองอย่างกล้าหาญครั้งนี้ทางราชการได้นำความกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ นอกจากนี้ยังได้รับยศเป็นทหารยศจ่าสิบเอกอีกด้วย ครูลำยองเป็นครูที่สุขุมเยือกเย็น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเอาจริงเอาจังความกล้าหาญความเสียสละของท่าน ครั้งนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวสุราษฎร์ธานีโดยถ้วนทั่ว ขุนวิชาการพิศิษฐ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสุราษฎร์ธานีในขณะนั้นจึงได้ ขนานนามวันที 8 ธันวาคมว่า “วันวิญญาณ” ซึ่งในวันนี้ โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จะมีการประกอบพิธีสักการะดวง วิญญาณของครูลำยองในทุกๆปี โดยเป็นการรวมศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยขณะทำพิธีจะต้องมีการท่องบทวิญญาณสดุดี พร้อมทั้งมีการวางพวงมาลาที่หน้าอนุสาวรีย์คุณครูลำยองอีกด้วย
บทวิญญาณสดุดี

 

           แปดธันธ์แปดสี่นั้น ดัสกร
ญี่ปุ่นยกทัพรอน รุกบ้าน
ไทยชาติมาดหมายทอน ทัพหยุด อยู่ฤๅ
จึ่งร่วมฤทธิ์แรงต้าน ตื่นทั้ง ชายหญิง
          ประวิงทัพญี่ปุ่นด้วย ทำนอง ยุทธพ่อ
รักชาติศาสน์กษัตริย์ปอง ปกาสสู้
เลิศชายชื่อลำยอง วิศุภ-กาญจน์ เฮย
พลีชีพชูชาติกู้ เกียรติไว้ กลางสมร
          บวรมิตรศิษย์ญาติพ้อง ภักดี
ต่างมอบกายพจี จิตพร้อม
กตัญญูกตเวที เทิดเกียร-ติคุณเฮย
มุ่งแผ่กุศลน้อม ระลึกเบื้อง แปดธนู
ผู้ประพันธ์ คุณครูแผ้ว พรหมสวัสดิ์

ที่มา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี