สมุดเยี่ยม | ์กาพย์ฉบัง ๑๖ | กาพย์ยานี ๑๑ | กาพย์สุรางค์ ๒๘ | |
แผนการสอน | อธิบายศัพท์ | แบบทดสอบ |
ยานี
๑๑ แม่ก กา
สาธุสะจะขอไหว้ | พระศรีไตรสรนา | |
พ่อแม่แลครูบา | เทวดาในราศี | |
ข้าเจ้าเอา ก ข | เข้ามาต่อ ก กา มี | เริ่มด้วยแม่ กา (ไม่มีตัวสะกด) |
แก้ไขในเท่านี้ | ดีมิดีอย่าตรีชา | ตรีชา= ตำหนิ |
จะร่ำคำต่อไป | พอฬ่อใจกุมารา | ล่อใจยั่วยุให้เรียน |
ธรณีมีราชา | เจ้าพาราสาวะถี | เมืองหนึ่งชื่อเมืองสาวะถี |
ชื่อพระไชยสุริยา | มีสุดามะเหษี | ชื่อพระไชยสุริยา มีมเหสี |
ชื่อว่าสุมาลี | อยู่บูรีไม่มีไภย | ชื่อสุมาลี อยูเมืองไม่มีภัย |
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา | มีกริยาอะฌาสัย | ข้าบริวาร นิสัยดี อัชฌาศัย=นิสัยดี |
พ่อค้ามาแต่ไกล | ได้อาศัยในพารา | ทุกคนได้พึ่งพา พารา=เมือง |
ไพร่ฟ้าประชาชี | ชาวบูรีก็ปรีดา | |
ทำไร่เขาไถนา | ได้เข้าปลาแลสาลี | ได้ข้าวปลาและข้าวสาลี |
อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า | ก็หาเยาวนารี | ต่อมาพวกคนใกล้ชิดก็หาสาวรุ่น (เยาวนารี) |
ที่หน้าตาดีดี | ทำมโหรีที่เคหา | ที่หน้าตาสะสวย มาร้องรำทำเพลงตามที่พัก (เคหา) |
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ | เข้าแต่หอล่อกามา | เพลิดเพลินกับสิ่งบันเทิงและความใคร่ |
หาได้ให้ภริยา | โลโภพาให้บ้าใจ | เกิดความโลภ |
ไม่จำคำพระเจ้า | เหไปเข้าภาษาไสย | ไม่อยู่ในคำสอนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกศาสนา |
ถือดีมีข้าไท | ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา | พวกทีมีข้าทาสบริวาร ก็ฉ้อโกงชาวบ้าน ทำโทษใส่ขื่อคา |
คะดีที่มีคู่ | คือไก่หมูเจ้าสุภา | เมื่อมีคดี ตุลาการหรือผู้ตัดสินคดีเห็นแก่สินบน |
ใครเอาเข้าปลามา | ให้สุภาก็ว่าดี | ผู้ที่ให้สินบนก็จะเป็นผู้ชนะ |
ที่แพ้แก้ชนะ | ไม่ถือพระประเวณี | |
ขี้ฉ้อก็ได้ดี | ไล่ด่าตีมีอาญา | |
ที่ซื่อถือพระเจ้า | ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา | คนที่อยู่ในกรอบศาสนากลับคิดว่าเป็นพวกโง่ |
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา | ว่าใบ้บ้าสาระยำ | เมธา=นักปราชญ์ ก็ถูกหาว่าเป็นบ้า |
ภิกษุสะมะณะ | เล่าก็ละพระสธรรม | พระไม่อยู่ในศีลธรรม |
คาถาว่าลำนำ | ไปเร่ร่ำทำเฉโก | |
ไม่จำคำผู้ใหญ่ | ศีรษะไม้ใจโยโส | บางคนก็หัวแข็งไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ |
ที่ดีมีอะโข | ข้าขอโมทนาไป | แต่ที่ดีก็พอมีอยู่บ้าง |
พาราสาวะถี | ใครไม่มีปราณีใคร | เมืองสาวะถีไม่มีความสงบสุข |
ดุดื้อถือแต่ใจ | ที่ใครได้ใส่เอาพอ | ใครดีใครได้ |
ผู้ที่มีฝีมือ | ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ | ใครจะเอาของใครก็หยิบเอาไป ขโมยไป |
ใล่คว้าผ้าที่คอ | อะไรล่อก็เอาไป | |
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา | มิได้ว่าหมู่ข้าไทย | |
ถือน้ำร่ำเข้าไป | แต่น้ำใจไม่นำพา | พวกข้าบริวารถือน้ำพระพิพัฒน์ แต่ก็ไม่จริงใจ |
หาได้ใครหาเอา | ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา | ประชาชนโศกเศร้า |
ผู้ที่มีอาญา | ไล่ตีด่าไม่ปราณี | ใครมีโทษถูกทำร้ายขาดความปรานี |
ผีป่ามากระทำ | มรณะกรรมชาวบูรี | จึงเกิดเหตุเภทภัยแก่เมืองนี้ |
น้ำป่าเข้าธานี | ก็ไม่มีที่อาไศรย | โดยมีน้ำป่าท่วมเมืองไม่มีที่อยู่อาศรัย |
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา | หนีไปหาพาราไกล | พวกข้าบริวารหนึไปอยู่เมืองอื่น |
ชีบาล่าลี้ไป | ไม่มีใครในธานี | ชีบา= ครูอาจารย์ ก็หนีไป |
ฉบัง ๑๖
พระไชยสุริยาภูมี | พาพระมเหษี | |
มาที่ในลำสำเภา | ||
เข้าปลาหาไปไม่เบา | นารีที่เยาว์ | นำสาวรุ่นไปด้วย |
ก็เอาไปในเภตรา | ||
เถ้าแก่ชาวแม่แซ่มา | เสนีเสนา | เฒ่าแก่=ข้าราชการสตรี |
ก็มาในลำสำเภา | ||
ตีม้าฬ่อช่อใบใส่เสา | วายุพยุเพลา | ม้าล่อ=แผ่นโลหะคล้ายถาด |
สำเภาก็ใช้ใบไป | สำเภา=เรือสำเภา | |
เภตรามาในน้ำไหล | ค่ำเช้าเปล่าใจ | เภตรา=เรือ |
ที่ในมหาวารี | ||
พะสุธาอาไศรยไม่มี | ราชานารี | อาศรัย |
อยู่ที่พระแกลแลดู | พระแกล=หน้าต่าง | |
ปลากะโห้โลมาราหู | เหราปลาทู | เห-รา=แมงดาชนิดหนึ่ง |
มีอยู่ในน้ำคล่ำไป | ||
ราชาว้าเหว่หฤทัย | วายุพาคลาไคล | |
มาในทะเลเอกา | ||
แลไปไม่ปะพะสุธา | เปล่าใจนัยนา | |
โพล้เพล้เวลาราตรี | ||
ราชาว่าแก่เสนี | ใครรู้คะดี | คดี=เรื่องราว |
วารีนี้เท่าใดนา | ||
ข้าเฝ้าเล่าแก่ราชา | ว่าพระมหา | |
วารีนี้ไซ้ใหญ่โต | ||
ไหลมาแต่ในคอโค | แผ่ไปใหญ่โต | |
มะโหฬาร์ล้ำน้ำไหล | ||
บาฬีมิได้แก้ไข | ข้าพเจ้าเข้าใจ | |
ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา | ||
ว่ามีพระยาสกุณา | ใหญ่โตมะโหฬาร์ | |
กายาเท่าเขาคีรี | ||
ชื่อว่าพระยาสัมพาที | ใครรู้คะดี | |
วารีนี้โตเท่าใด | ||
โยโสโผผาถาไป | พอพระสุริไสย | |
จะใกล้โพล้เพล้เวลา | ||
แลไปไม่ปะพสุธา | ย่อท้อรอรา | |
ชีวาก็จะประลัย | ||
พอปลามาในน้ำไหล | สกุณาถาไป | |
อาไศรยที่ศีร์ษะปลา | ||
ฉะแง้แลไปไกลตา | จำของ้อปลา | |
ว่าขอษะมาอะไภย | ||
วารีที่เราจะไป | ใกล้หรือว่าไกล | |
ข้าไหว้จะขอมรคา | ||
ปลาว่าข้าเจ้าเยาวะภา | มิได้ไปมา | |
อาไศรยอยู่ต่อธรณี | ||
สกุณาอาไลยชีวี | ลาปลาจรลี | |
สู่ที่ภูผาอาไศรย | ||
ข้าเฝ้าเล่าแก่ภูวไนย | พระเจ้าเข้าใจ | |
ฤไทยว้าเหว่เอกา | ||
จำไปในทะเลเวรา | พายุไหญ่มา | |
เภตราก็เหเซไป | ||
สมอก็เก่าเสาใบ | ทะลุปรุไป | |
น้ำไหลเข้าลำสำเภา | ||
ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสา | เจ้ากำม์ซ้ำเอา | |
สำเภาระยำคว่ำไป | ||
ราชาคว้ามืออรไทย | เอาผ้าสะไบ | |
ต่อไว้ไม่ไกลกายา | ||
เถ้าแก่เชาแม่เสนา | น้ำเข้าหูตา | |
จระเข้เหราคร่าไป | ||
ราชานารีร่ำไร | มีกำม์จำใจ | |
จำไปพอปะพะสุธา | ||
มีไม้ไทรใหญ่ใบหนา | เข้าไปไสยา | |
เวลาพอค่ำรำไร |
|
สุรางคนางค์
๒๘ (แม่กน)
ขึ้นใหม่ใน กน | ก กา ว่าปน | ระคนกันไป |
เอ็นดูภูธร | มานอนในไพร | มณฑลต้นไทร | แทนไพชยนต์สถาน |
ส่วนสุมาลี | วันทาสามี | เทวีอยู่งาน |
เฝ้าอยู่ดูแล | เหมือนแต่ก่อนกาล | ให้พระภูบาล | สำราญวิญญา |
พระชวนนวลนอน | เข็ญใจไม้ขอน | เหมือนหมอนแม่นา |
ภูธรสอนมนต์ | ให้บ่นภาวนา | เย็นค่ำร่ำว่า | กันป่าไภยพาล |
วันนั้นจันทร | มีดารากร | เป็นบริวาร |
เห็นสิ้นดินฟ้า | ในป่าท่าธาร | มาลีคลี่บาน | ใบก้านอรชร |
เย็นฉ้ำน้ำฟ้า | ชื่นชะผะกา | วายุพาขจร |
สาระพันจันทน์อิน | รื่นกลิ่นเกสร | แตนต่อคลอร่อน | ว้าว่อนเวียนระวัน |
จันทราคลาเคลื่อน | กระเวนไพรไก่เถื่อน | เตือนเพื่อนขานขัน |
ปู่เจ้าเขาเขิน | กู่เกริ่นหากัน | สินธุพุลั่น | ครื้นครั่นหวั่นไหว |
พระฟื้นตื่นนอน | ไกลพระนคร | สะท้อนถอนฤไทย |
เช้าตรู่สุริยน | ขึ้นพ้นเมรุไกร | มีกำม์จำไป | ในป่าอารัญ |
ฉบัง
๑๖ (แม่กง)
ขึ้นกงจงสำคัญ | ทั้งกนปนกัน | |
รำพันมิ่งไม้ในดง | ||
ไกรกร่างยางยูงสูงระหง | ตะลิงปลิงปริงประยงค์ | |
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง | ||
มะม่วงพวงพลองช้องนาง | หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง | |
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน | ||
เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน | เหมือนอย่างนางเชิญ | |
พระแสงสำอางข้างเคียง | ||
เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง | เริงร้องซ้องเสียง | |
สำเนียงน่าฟังวังเวง | ||
กลางไพรไก่ขันบรรเลง | ฟังเสียงเพียงเพลง | |
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง | ||
ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง | เพียงฆ้องกลองระฆัง | |
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง | ||
กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง | พระยาลอคลอเคียง | |
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง | ||
ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง | เพลินฟังวังเวง | |
อีเก้งเริงร้องลองเชิง | ||
ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง | ค่างแข็งแรงเริง | |
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง | ||
ป่าสูงยูงยางช้างโขลง | อึงคะนึงผึงโผง | |
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป |
ยานี ๑๑(แม่กก)
ขึ้นกกตกทุกข์ยาก | แสนลำบากจากเวียงไชย | |
มันเผือกเลือกเผาไฟ | กินผลไม้ได้เป็นแรง | |
รอนรอนอ่อนอัษดงค์ | พระสุ่ริยงเย็นยอแสง | |
ช่วงดังน้ำครั่งแดง | แฝงเมฆเขาเงาเมรุธร | |
ลิงค่างครางโครกครอก | ฝูงจิ้งจอกออกเห่าหอน | |
ชะนีวิเวกวอน | นกหกร่อนนอนรังเรียง | |
ลูกนกยกปีกป้อง | อ้าปากร้องซ้องแซ่เสียง | |
แม่นกปกปีกเคียง | เลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร | |
ภูธรนอนเนินเขา | เคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์ | |
ตกยากจากศฤงฆาร | สงสารน้องหมองภักตรา |
ยากเย็นเห็นหน้าเจ้า | สร่างโศกเศร้าเจ้าพี่อา |
อยู่วังดังจันทรา | มาหม่นหมองลอองนวล |
เพื่อนทุกข์ศุขโศกเศร้า | จะรักเจ้าเฝ้าสงวน |
มิ่งขวัญอย่ารันจวน | นวลภักตร์น้องจะหมองศรี |
ชวนชื่นกลืนกล้ำกลิ่น | มิรู้สิ้นกลิ่นมาลี |
คลึงเคล้าเย้ายวนยี | ที่ทุกข์ร้อนหย่อนเย็นทรวง |
ยานี
๑๑ (แม่กด)
ขึ้นกดบทอัศจรรย์ | เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง | |
นกหกตกรังรวง | สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง | |
แดนดินถิ่นมนุษย ์ | เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง | |
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง | โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน | |
บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ | บ้างตื่นไฟตกใจโจน | |
ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน | ลุกโลดโผนโดนกันเอง | |
พิณพาทย์ระนาดฆ้อง | ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง | |
ระฆังดังวังเวง | โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง | |
ขุนนางต่างลุกวิ่ง | ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง | |
พัลวันดันตึงตัง | พลั้งพลัดตกหกคะเมน |
พระสงฆ์ลงจากกุฏิ | วิ่งอุตลุตฉุดมือเณร | |
หลวงชีหนีหลวงเถร | ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน | |
พวกวัดพลัดเข้าบ้าน | ล้านต่อล้านซานเซโดน | |
ต้นไม้ไกวเอนโอน | ลิงค่างโจนโผนหกหัน | |
พวกผีที่ปั้นลูก | ติดจมูกลูกตาพลัน | |
ขิกขิกระริกกัน | ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ | |
สององค์ทรงสังวาส | โลกธาตุหวาดหวั่นไหว | |
ตื่นนอนอ่อนอกใจ | เดินไม่ได้ให้อาดูร |
ยานี
๑๑ (แม่กบ)
ขึ้นกบจบแม่กด | พระดาบสบูชากูณฑ์ | |
ผาสุกรุกขมูล | พูนสวัสดิ์สัตถาวร | |
ระงับหลับเนตรนิ่ง | เององค์อิงพิงสิงขร | |
เหมือนกับหลับสนิทนอน | สังวรศีลอภิญญาณ | |
บำเพ็งเล็งเห็นจบ | พื้นพิภพจบจักรวาล | |
สวรรค์ชั้นวิมาน | ท่านเห็นแจ้งแหล่งโลกา | |
เข้าฌานนานนับเดือน | ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา | |
จำศีลกินวาตา | เป็นผาสุกทุกเดือนปี |
วันนั้นครั้นเดินไหว | เกิดเหตุใหญ่ในปฐพี | |
เล็งดูรู้คดี | กาลกิณีสี่ประการ | |
ประกอบชอบเป็นผิด | กลับจริตผิดโบราณ | |
สามัญอันธพาล | ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์ | |
ลูกศิษย์คิดล้างครู | ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน | |
ส่อเสียดเบียดเบียนกัน |
ลอบฆ่าฟันคือตัณหา |
|
โลภลาภบาปบ่คิด | โจทย์ผิดริษยา | |
อุระพสุธา | ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง |
บรรดาสามัญสัตย์ | เกิดวิบัติปัตติปาปัง | |
ไตรยุคทุกขตะรัง | สังวัจฉระอวสาน |
ฉบัง ๑๖(แม่กม)
ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ | เอ็นดูภูบาล | |
ผู้ผ่านพาราสาวะถี | ||
ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี | กลอกกลับอัปรีย์ | |
บูรีจึงล่มจมไป | ||
ประโยชน์จะโปรดภูวไนย | นิ่งนั่งตั้งใจ | |
เลื่อมใสสำเร็จเมตตา | ||
เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา | บอกข้อมรณา | |
คงมาวันหนึ่งถึงตน | ||
เบียฬเบียดเสียดส่อฉ้อฉล | บาปกำม์นำตน | |
ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์ | ||
เมตตากรุณาสามัญ | จะได้ไปสวรรค์ | |
เป็นศุขทุกวันหรรษา | ||
สมบัติสัตว์มนุษย์ครุฑา | กลอกกลับอัปรา | |
เทวาสมบัติชัชวาล | ||
ศุขเกษมเปรมปรดิ์วิมาน | อิ่มหนำสำราญ | |
ศฤงฆารห้อมล้อมพร้อมเพรียง | ||
กระจับปี่สีซอคลอเสียง | ขับรำจำเรียง | |
สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง | ||
เดชะพระกุศลหนหลัง | สิ่งใดใจหวัง | |
ได้ดังมุ่งมาตรปรารถนา | ||
จริงนะประสกสีกา | สวดมนต์ภาวนา | |
เบื้องน่าจะได้ไปสวรรค์ | ||
จบเทศน์เสร็จคำรำพัน | พระองค์ทรงธรรม์ | |
ัดันดั้นเมฆาคลาไคล |
ฉบัง ๑๖ (แม่เกย)
ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไทย | ฟังธรรมน้ำใจ | |
เลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ | ||
เห็นไภยในขันธสันดาน | ตัวห่วงบ่วงมาร | |
สำราญสำเร็จเมตตา | ||
สององค์ทรงหนังพยัคฆา | จัดจีบกลีบชะฎา | |
รักษาศีลถือฤาษี | ||
เช้าค่ำทำกิจพิธี | กองกูณฑ์อัคคี | |
เป็นที่บูชาถาวร | ||
ปะถะพีเป็นที่บรรจฐรณ์ | เอนองค์ลงนอน | |
เหนือขอนเขนยเกยเศียร | ||
ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน | เหนื่อยยากพากเพียร | |
เรียนธรรมบำเพ็งเคร่งครัน | ||
สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์ | เสวยศุขทุกวัน | |
นานนับกัปกัลป์พุทธันดร | ||
กุมราการุญสุนทร | ไว้หวังสั่งสอน | |
เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน | ||
ก ข ก กา ว่าเวียน | หนูน้อยค่อยเพียร | |
อ่านเขียนผสมกมเกย | ||
ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย | ไม้เรียวเจียวเหวย | |
กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว | ||
หันหวดปวดแสบแปลบเสียว | หยิกซ้ำซ้ำเขียว | |
อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ | ||
บอกไว้ให้ทราบบาปกรรม | เรียงเรียบเทียบทำ | |
แนะนำให้เจ้าเอาบุญ | ||
เดชะพระมหาการุญ | ใครเห็นเป็นคุณ | |
แบ่งบุญให้เราเจ้าเอยฯ |
โครงงานจัดทำแหล่งเรียนรู้ภาษาไทย โดยนักเรียนโครงการภาษาอังกฤษชั้น ม.1
วรรณคดีเพื่อการวิจักษณ์ : กาพย์พระไชยสุริยา
ความเป็นมา
กาพย์พระไชยสุริยาเป็นแบบเรียนที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จุดประสงค์เพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว ในการศึกษากาพย์พระไชยสุริยา ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์
ได้แก่ กาพย์ยานี11 กาพย์ฉบัง16 และ
กาพย์สุรางคนางค์ 28
2
ประวัติผู้แต่ง
สุนทรภู่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8ขึ้น
1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148
ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง มารดาเป็นชาวเมืองไม่ปรากฎ
ต่อมา
บิดามารดาได้หย่าร้างกัน มารดามีสามีใหม่ สุนทรภู่จึงได้ไปอาศัยกับมารดา และ
ได้เล่าเรียนในวัด ศรีสุดาราม
-ปี พ.ศ. 2356 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในวังหลวง มีหน้าที่เป็นอาลักษณ์ ตำแหน่ง
ขุนสุนทรโวหาร และได้แต่งกลอนถวายเป็นที่พอพระทัยมาก
-ปี พ.ศ. 2367 สุนทรภู่ได้ทำหน้าที่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระโอรสองค์โตของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
พระอัครชายาในรัชกาลที่2
-เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ไม่โปรดสุนทรภู่เพราะเมื่อครั้งพระองค์ดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
สุนทรภู่ทักท้วงบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์หน้าพระที่นั่ง ทำให้พระองค์ขัดเคืองพระทัย
สุนทรภู่จึงออกบวชที่วัดราชบูรณะเพื่อหนีราชภัย เมื่อบวชและจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ
จึงมีโอกาสถวายพระอักษรเจ้าฟ้าชายกลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
-ต่อมาสุนทรภู่ได้ย้ายจากวัดราชบูรณะไปจำพรรษาที่วัดอรุณราชวราราม แล้วจึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม
และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามคำชักชวนของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
-ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวช ไปประทับที่วังท่าพระ จึงชวนให้สุนทรภู่ไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุด้วย
เพื่อสะดวกในการอุปถัมภ์ สุนทรภู่บวชได้ประมาณ 7 ถึง 8 พรรษาจึงสึกออกมา เพื่อติดตามรับใช้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
-พ.ศ.2378 พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ต้องตกยากอีก จึงบวชใหม่อีกครั้งที่วัด
เทพธิดาราม ครั้งนี้ได้รับเมตตาจากเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
-พ.ศ.2385 สุนทรภู่สึกออกมาเป็นฆราวาส ต่อมาได้ถวายตัวเป็นอาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ พ.ศ. 2393 และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสุนทรโวหาร ช่วงนี้ สุนทรภู่มีความสุขขึ้นและรับราชกาลได้
5 ปีก็ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้70ปี
-กล่าวกันว่าสุนทรภู่ เป็นกวีสี่แผ่นดิน คือเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 รุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่
2 ตกอับในสมัยรัชกาลที่ 3 และถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ 5
3 เรื่องย่อ
มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่าไชยสุริยา ครองเมืองสาวัตถี มีพระมเหสี ทรงพระนามว่า
สุมาลี ครอบครองบ้านเมือง
ด้วยความผาสุก ต่อมาข้าราชการ เสนาอำมาตย์ประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
จึงเกิดเหตุอาเพศ เกิดน้ำป่าไหลท่วมเมือง ผีป่าอาละวาด ทำให้ชาวเมืองล้มตายจำนวนมาก
พระไชยสุริยากับพระมเหสีจึงลงเรือสำเภาแต่ก็ถูกพายุพัดจนเรือแตก พระไชยสุริยาและมเหสีขึ้นฝั่งได้
พระอินทร์จึงเสด็จมาสั่งสอนธรรมะให้ ทั้งสองพระองค์ปฏิบัติตามธรรมจึงเสด็จไปสู่สวรรค์
4
ลักษณะคำประพันธ์
เรื่องกาพย์พระไชยสุริยานี้แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ยานี11
กาพย์ฉบัง16 กาพย์สุรางคนางค์ 28
ตัวอย่างคำประพันธ์
กาพย์ยานี11
........ชื่อพระไชยสุริยา.....................มีสุดามเหสี
...ชื่อว่าสุมาลี.....................................อยู่บูรีไม่มีภัย
กาพย์ฉบัง16
.........พระไชยสุริยา........................พาพระมเหสี
.มาที่ในลำสำเภา
กาพย์สุรางคนางค์28
...............วันนั้นจันทร.................มีดารากร................เป็นบริวาร...
.เห็นสิ้นดินฟ้า........ในป่าท่าธาร..........มาลีคลี่บาน............ใบก้านอรชร
5 คำศัพท์
ก ข.........................อักษรไทย ตัวหนังสือไทย
กระจับปี่...................พิณสี่สาย
กระโห้......................ชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง หัวโตเกล็ดใหญ่ ลำตัวด้านหลังสีเทาดำ
หางและครีบ สีคล้ำ
กร่าง........................ชื่อต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง เปลือกเรีบยสีเทา
ใบกว้างหนา
กะลาง......................ชื่อนกชนิดหนึ่ง ตัวขนาดนกเอี้ยง
กะลิ.........................ชื่อ นกปากงุ้มเป็นขอชนิดหนึ่ง หัวสีเทา ตัวสีเขียว
ปากแดง หางยาว
กังสดาล...................ระฆังวงเดือน
กัปกัลป์....................กัป หมายถึง ระยะเวลาอันนานเหลือเกิน บางทีใช้คู่กับคำว่ากัลป์
เป็น กัปกัลป์
กามา........................ความใคร่ ความใคร่ในทางเมถุน
กาลกิณี.....................เสนียดจัญไร ลักษณะที่อัปมงคล
กุมารา.......................เด็กๆทั้งหลาย
กูณฑ์.......................ไฟ
ไกร.........................เกิน กล้า เก่ง
ขอสมา.....................ขอโทษ ขออภัย
ขันธสันดาน..............อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิดในตัวของตนเอง
ขื่อคา.......................เครื่องจองจำนักโทษ
เขนย.......................หมอน
คดี..........................เรื่อง
ครั่ง.........................ชื่อเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง
ครุฑา.......................สัตว์ในวรรณคดี
คอโค.......................คนอินเดีย
ค้อนทอง..................ชื่อนกชนิดหนึ่ง
คับทรง....................ชื่อพุ่มไม้ชนิดหนึ่ง
ค่าง.........................ชื่อลิงชนิดหนึ่ง
คีรี...........................ภูเขา
จอง.........................มั่นหมายไว้
จักรวาล....................ปริมณฑล
ฉ้อ...........................ขี้โกง
เฉโก.........................ฉลาดแกมโกง
ช้องนาง....................ชื่อพุ่มไม้ชนิดหนึ่ง
ชี.............................นักบวชหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว
ตรีชา........................ความหมายตามบริบท หมายถึง ติเตียน
ตะรัง........................ตั้น ตะบึงไป
ตะลิงปลิง..................ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง
ตัณหา.......................ความทะยานอยาก
ไตรยุค......................ไตรดายุค
ไตรสรณา..................ที่พึ่งทั้งสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถือน้ำ........................พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นการดื่มน้ำสาบานถวายพระเจ้าแผ่นดิน
เถื่อน........................ป่า
ทุกข.........................ความทุกข์
เทวาสมบัติ.................สมบัติในสวรรค์
ธรณี.........................ดิน แผ่นดิน
นัยนา........................ดวงตา
บรรจถรณ์.................ที่นอน
บา............................ครู อาจารย์
บาลี..........................ภาษาบาลี
ปฐพี.........................พื้นดิน
ประยงค์....................ชื่อพุ่มไม้ชนิดหนึ่ง
ประเวณี....................การประพฤติผิดเมียผู้อื่น
ประสกสีกา.................ชายหญิงที่นับถือพระพุทธศาสนา
ปริง..........................มะปริง
ปัตติ.........................ส่วนบุญ
ปาปัง........................บาป
ผลาญ.......................ทำลายให้หมดสิ้นไป
ผาสุก........................ความสำราญ
ฝาง..........................ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง
ฝิ่น............................ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง
พระแกล.....................หน้าต่าง
พระดาบส...................ผู้บำเพ็ญตบะ
พระยาลอ....................ชื่อนกชนิดหนึ่ง
พระยาสัมพาที..............พญานกในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
พระสุริย์......................พรุสุรีย์
พระแสง.....................อาวุธ หรือ เครื่องใช้มีคมที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สอย
พลวง.........................ชื่อธาตุชนิดหนึ่ง
พสุธา..........................แผ่นดิน
พักตรา........................ใบหน้า
พิภพ...........................โลก ทรัพย์สมบัติ
พุทธันร.......................ช่วงเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้า
โพล้เพล้.......................เวลาพลบค่ำ เวลาจวนค่ำ
ไพชยนต์สถาน...............ชื่อรถและวิมานของพระอินทร์
ภาษาไสย......................ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนตร์คาถา
ภุมรา...........................แมลงภู่ ผึ้ง(หมายถึงตัวสุนทรภู่)
ภูผา............................ภูเขา
เภตรา..........................เรือ
มณฑล.........................ดวง รัศมี วงรอบ เขตปกครองที่แบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ
มรคา...........................ทาง
มรณา..........................ตาย
มเหสี...........................เมียเอก
มโหรี...........................วงเครื่องดนตรีประเภทดีดสีตีเป่า
มโหฬาร์.......................ยิ่งใหญ่
มะม่วง.........................ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง
เมธา...........................ความรู้ ปัญญา
เมรุ.............................ชื่อภูเขากลางจักรวาลมียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอินทร์
โมทนา.........................บันเทิง ยินดี
ยอแสง........................อาการที่พระอาทิตย์อ่อนแสงสล
ยูง..............................ชื่อนกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง
เยาวนารี.......................สาวรุ่นๆ
โยโส............................โหยกเหยก
ระยำ............................ชั่วช้า
รัญจวน........................ป่วนใจ
ราตรี...........................กลางคืน
ราศี..............................กอง หมู่
ราหู..............................ชื่อปลากระเบนทะเลชนิดหนึ่ง
รูกขมูล.........................โคนต้นไม้
ละมั่ง............................ชื่อกวางขนาดเล็กชนิดหนึ่ง
โลโภ.............................ความโลภ
วาตา.............................ลม
วายุ พยุ.........................พายุ
วารี...............................น้ำ
วิบัติ..............................พิบัติ ความฉิบหาย
ศฤงคาร.........................สิ่งให้เกิดความรัก
สกุณา............................นก
สะธุสะ............................คำเพื่อขอความสวัสดิมงคล
สังวัจฉระ........................ปี
สังวาส............................การอยู่ด้วยกัน
สัตถ...............................คัมภีร์ ตำรา เกวียน
สาลี................................ข้าว
สิงขร..............................ภูเขา
สุภา................................ตุลาการ
หงส์...............................นกในนิยาย
เหรา...............................ชื่อแมงดาทะเลชนิดหนึ่ง
เหล่าเมธา........................หมายถึงบรรดานักปราชญ์
อภิญญาณ......................ความรู้ยิ่งมี 6 อย่างคือ 1. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้
2.ทิพยโสด มีหูทิพย์ 3.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่น 4.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
ระลึกชาติได้ 5.ทิพยจักขุ มีตาทิพย์ 6.อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสว
อวสาน............................จบ สิ้นสุด
อะโข...............................มากหลาย
อะฌาสัย..........................กิรียาดี นิสัยใจคอ
อันธพาล..........................คนเกะกะระราน
อัปรา...............................ใช้เป็นคำนำหน้าคำศัพท์ที่มาจากบาลี แปลว่า
ไปจาก ปราศจาก
อัปรีย์..............................ระยำ จัญไร
อัสดง..............................ตกไป พระอาทิตย์ตก
อาญา...............................อำนาจ โทษ
อารย์...............................เจริญ
อารัญ...............................ป่า
อีเก้ง................................ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดหนึ่ง
อีโก้ง................................ชื่อนกชนิดหนึ่ง
6 การวิจักษณ์วรรคดีเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา
6.1ลักษณะการแต่ง
ลักษณะการแต่ง แต่งด้วยกาพย์ 3 ขนิด คือ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์
28
(1)กาพย์ยานี 11 ใช้ในการบรรยาย หรือเล่าเรื่อง เช่น
..........จะร่ำค่ำต่อไป......................................พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา..................................................เจ้าพาราสาวัตถี
..........ชื่อพระไชยสุริยา..................................มีสุดามเหสี
ชื่อว่าสุมาลี....................................................อยู่บูรีไม่มีภัย
คำที่ใช้เป็นคำไทยง่ายๆเหทาะกับวัยที่เพิ่งฝึกหัดอ่านเขียนเป็นเบื้องต้นเริ่มด้วยคำในมาตราแม่ ก กา
(2) กาพย์ฉบัง 16 เป็นกาพย์ที่มีลีลางามสง่ามักใช้ในการบบรรยายเหตุการณ์ที่สำคัญ หรือบรรยายเหตุการณ์ที่รวบรัดรวดเร็ว เช่น
..........เภตรามาในน้ำใหล..........................ค่ำเช้าเปล่าใจ
ที่ในมหาวารี
.........พสุธาอาศัยไม่มี................................ราชานารี
อยู่ที่พระแกลแลดู
(3) กาพย์สุรางคนางค์28 เป็นกาพย์ที่มีลีลาอ่อนหวาน เศร้า มักใช้ในการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกเช่น
............ขึ้นใหม่ในกน......................ก กา ว่าปน....................ระคนกันไป
เอ็นดูภูธร......................มานอนในไพร....................มณฑลต้นไทร................แทนไพชยนต์สถาน
6.2 จุดประสงค์การแต่ง
-เรื่องกาพย์พระไชยสุริยานี้แต่งขึ้นเพื่อเป็นแบบเรียนใช้สอนเรื่องการสะกดคำและการใช้ถ้อยคำแก่พระโอรสในพระบรมวงศานุวงศ์
โดยเรียงตามลำดับมาตราตัวสะกด คือ แม่ ก กา แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม
แม่เกย
-ลักษณะเนื้อหาเริ่มสอนจากง่ายไปหายาก มีการทบทวนความรู้เดิมทุกครั้ง ทำให้ น่าสนใจ
น่าติดตาม แต่ยังไม่จบเรื่อง คือ ขาดมาตราตัวสะกดแม่เกอวไปอีกหนึ่งมาตรา
.3 การวิเคราะห์คุณค่าด้านวรรณศิลป์
(1)การใช้คำง่ายๆบรรยายให้เห็นภาพชัดเจน เช่น
................ข้าเฝ้าเหล่าเสนา...........................มีกิริยาอะฌวสัย
พ่อค้ามาแต่ไกล............................................ได้อาศัยในพารา
...............ไพร่ฟ้าประชาชี.............................ชาวบูรีก็ปรีดา
ทำไร่เขาไถนา..............................................ได้ข้าวปลาแลสาลี
(2)ใช้คำพรรณนาให้สะเทือนอารมณ์เช่น
..............คืนนั้นจันทร.....................มีดารากร.................เป็นบริวาร
เห็นสิ้นดินฟ้า..............ในป่าท่าธาร...................มาลีคลี่บาน................ใบก้านอรชร
.............เย็นฉ่ำน้ำฟ้า......................ชื่นชะผกา................วายุพาขจร
สารพันจันอิน.............รื่นกลิ่นเกสร................แตนต่อคล้อร่อน...........ว้าว่อนเวียนระวัน
(3)สร้างสรรค์คำประพันธ์ โดยใช้โวหารได้ไพเราะเหมาะสม ดังนี้
-ใช้โวหารนาฏการ คือเห็นกิริยาอาการที่ทำต่อเนื่อง เช่น
..............เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน....................เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
..............ฝูงละมั่งฝันดินกินเพลิง..............................ค่างแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง
..............ป่าสูงยูงยางช้างโคลง...................................อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป
-ใช้โวหารสัทพจน์ ได้เห็นภาพและได้ยินเสียง เช่น
.............กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง...................พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
.............ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง..........................เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง
-ใช้โวหารอุปมา คือ เปรียบเทียบสิ่งหนึ่ง เหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง เช่น
..............กลางไพรไก่ขันบรรเลง.........................ฟังเสียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
.............ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง.......................เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง
-ใช้โวหารสัญลักษณ์ คือ การบรรยาย หรือ พรรณนาบางเรื่อง ไม่จำเป็นต้องบรรยายชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ใช้สัญลักษณ์แทน เช่น
..............ขึ้นกดบทอัศจรรย์.....................เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง
นกหกตกรังรวง......................................สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงน
..............แดนดินถิ่นมนุษย์....................เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง...........................โคลงคลองเคลื่อนเขยื้อนโยง
(4)ใช้คำได้ไพเราะ มีเสียงสัมผัสในวรรคทุกวรรค ทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสอักษร
เช่น
...............ขึ้นกงจงจำสำคัญ........................ทั้งกนปนกัน
รำพันมิ่งไม้ในดง
............ไกรกร่างยางยูงสูงระหง.....................ตะลิงปลิงปริงประยงค์
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง
............มะม่วงพลวงพลองช้องนาง...........หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน
สัมผัสอักษร เช่น จง-จำ มิ่ง-ไม้ ไกร-กร่าง ยาง-ยูง ตะลิงปลิง-ปริงค์-ประยงค์
ฝิ่น-ฝาง พลวง-พลอง
สัมผัสสระ เช่น กง-จง จำ-สำ กน-ปน ไม้-ใน กร่าง-ยาง ยูง-สูง ลิง-ปริง-ปลิง ยงค์-ทรง-ส่ง
ม่วง-พลวง พลอง-ช้อง เกลื่อน-เถื่อน พลาง-หว่าง
(5) ใช้ลีลาจังหวะในการอ่านได้สนุกและเกิดอารมณ์ตามเนื้อเรื่อง เช่นกาพย์ยานี11 ใช้จังหวะการอ่าน2/3 3/3 เป็นจังหวะประกอบเสียงหนักเบา และสัมผัสในของแต่ละวรรค
-แสดงอารมณ์ขันของสุนทรภู่ เช่น
............ขุนนาง / ต่างลุกวิ่ง...................ท่านผู้หญิง
/ วิ่งยุคหลัง
พัลวัน / ดันตึงตัง.................................พลั้งพลัดตก / หกคะเมน
............พระสงฆ์ / ลงจากกุฏิ์...............วิ่งอุดตลุด / ฉุดมือเณร
หลวงชี / หนีหลวงเถร.........................ลงโคลนเลน / เผ่นผาดโผน
-ให้อารมณ์เศร้า เหงา เช่น
...............พระชวนนวลนอน...........เข็ญใจไม้ขอน...............เหมือนหมอนแม่นา
ภูธรสอนมนต์.............ให้บ่นภาวนา...............เย็นค่ำร่ำว่า..................กันป่าภัยพาล
-ให้อารมณ์แช่มชื่นเบิกบานบ้าง
...........เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน..........เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคือง
...........เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง........................เริงร้อยซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
6.4 การวิเคราะห์คุณค่าด้านสังคม
(1) ให้ความรู้แก่ผู้อื่นตามจุดประสงค์ของผู้แต่ง คือ ใช้เป็นสื่อการสอน ใช้ในการสอนมาตราตัวสะกด
(2) ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดจินตนาการตามเนื้อเรื่อง
(3) ให้เห็นสภาพสังคมไทย เหมือนสภาพคนไทยก่อนเสียกรุง ดังนี้
................อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า...........................ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี................................................ทำมโหรีที่เคหา
................ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ............................เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา...........................................โลภาพาให้บ้าใจ
................ไม่จำคำพระเจ้า........................เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไท..............................................ฉ้อแต่ไพรใส่ชื่อคา
และสภาพก่อนกรุงสาวัติถีจะล่มจม ดังนี้
..............คดีที่มีคู่.........................คือไก่หมูเจ้าสุภา
ใครเอาข้าวปลามา......................ให้สุภาก็ว่าดี
.............ที่แพ้แก้ชนะ..................ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี..................................ไล่ด่าตีมีอาญา
.............ที่ซื่อถือพระเจ้า.............ว่างโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา..........................ว่าใบ้บ้าสาระยำ
(4) แสดงความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคม เช่น เชื่อเรื่อง ไสยศาสตร์
...............ไม่จำคำพระเจ้า......................เหไปเข้าภาษาไสย
ถือดีมีข้าไท............................................ฉ้อแต่ไพร่ใส่ชื่อคา
แสดงค่านิยมของครอบครัว
.............ส่วนสุมาลี.................วันทาสามี...............เทวีอยู่งาน
เฝ้าอยู่ดูแล.............เหมือนแต่ก่อนกาล.......ให้พระภูบาล...........สำราญวิญญาณ์
(5) ให้ข้อคิด คติธรรม นำไปใช้ในชีวิตดังนี้
-ข้าราชการที่ดีต้องไม่คดโกง
-คนไทยไม่ควรหลงระเริง เพลิดเพลินในกามจนเกินไป
-ผู้นำประเทศต้องควบคุมดูแลข้าราชการ อย่าให้รังแกประชาชน
-ถ้าข้าราชการไม่สุจริต คดโกง ประเทศชาติจะประสบความหายนะต่างๆ
-คนเราทุกคนต้องตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ทุกคนต้องไม่เบียดเบียนกัน
อ้างอิง : หนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
.ช. ชวิศ เหง่าประเสริฐ เลขที่2 ม2/11A - 25/11/2005 16:19
คุณเป็นผู้เยี่ยมชมลำดับที่
ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2546
จัดทำและนำเสนอโดย
คุณครูภาทิพ ศรีสุทธิ์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสุราษฎร์ธานี