หลักการใช้สื่อการสอน

1. เตรียมตัวผู้สอน เป็นการเตรียมตัวในการอ่าน ฟังหรือดูเนื้อหาที่อยู่ในสื่อที่จะใช้ว่า มีเนื้อหาถูกต้องครบถ้วน และตรงกับที่ต้องการหรือไม่ จะต้องเพิ่มเติมในส่วนใด จะมีวิธีการใช้สื่ออย่างไร เช่น การใช้ภาพนิ่งเพื่อเป็นการนำเข้าสู่บทเรียน แล้วอธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับบทเรียนนั้นจากนั้นจึงให้ชมวีดิทัศน์เพื่อเสริมสร้างความรู้ แล้วสรุปความรู้อีกครั้งด้วยแผ่นภาพโปร่งใส ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ผู้สอนต้องเตรียมตัวโดยเขียนลงในแผนการสอนเพื่อการใช้สื่อได้อย่างถูกต้อง
2. เตรียมจัดสภาพแวดล้อม โดยการจัดเตรียมวัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ให้พร้อม ตลอดจนจัดเตรียมสถานที่ห้องเรียนให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การเรียนการสอน เป็นไปด้วยความสะดวก ราบรื่น ไม่เสียเวลา
3. เตรียมพร้อมผู้เรียน เป็นการตัวผู้เรียน โดยมีการแนะนำหรือให้ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเนื้อหา เพื่อให้ผู้เรียนเตรียมพร้อมในการฟัง ดูหรืออ่านบทเรียนจากสื่อนั้นให้เข้าใจ และสามารถจับประเด็นสำคัญของเนื้อหาได้ และผู้สอนควรบอกผู้เรียนล่วงหน้าว่าหลังจากมีการเรียน หรือใช้สื่อแล้ว ผู้เรียนจะต้องมีกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น การทดสอบ การอภิปราย การแสดงหรือการปฏิบัติ เพื่อผู้เรียนจะได้เตรียมตัวได้ถูกต้อง
4. การใช้สื่อ ผู้สอนต้องใช้สื่อให้เหมาะสมกับขั้นตอนที่เตรียมไว้ เพื่อให้ดำเนินการสอนไปได้อย่างราบรื่น และต้องควบคุมการนำเสนอสื่อให้ถูกต้อง เช่น การปรับภาพบนจอรับภาพให้ชัดเจน การปรับเสียงให้พอเหมาะสำหรับนักเรียนในห้อง และไม่รบกวนห้องเรียนอื่น เป็นต้น
5. การติดตามผล ควรมีการติดตามผลโดยการให้ผู้เรียนตอบคำถาม อภิปรายหรือเขียนรายงาน เพื่อเป็นการทดสอบว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียน และเรียนรู้จากสื่อที่เสนอไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เพื่อผู้สอนจะได้สามารถทราบถึงจุดบกพร่องและเพื่อการแก้ไขปรับปรุงการสอนของตนต่อไป

     ในการวางแผนการใช้สื่อการสอน ผู้สอนควรจะมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การใช้สื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ การวางแผนอย่างเป็นระบบนี้ เราสามารถใช้รูปแบบจำลองที่เรียกว่า " The ASSURE Model " ของไฮนิคและคณะ (Heinich and others 1999)


A
nalyze Learner Characteristics
การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน
S
tate Objectives
การกำหนดวัตถุประสงค์
S
elect , Modify or Design Materials
การเลือก ดัดแปลงหรือออกแบบสื่อใหม่
U
tilize Materials
การใช้สื่อ
R
equire Learner Response
การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน
E
valuation
การประเมินการใช้สื่อ

     การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน (Analyze Learner Characteristics) เพื่อเลือกสื่อให้สัมพันธ์กับลักษณะของผู้เรียน เช่น
1. ลักษณะทั่วไป เช่น อายุ ระดับความรู้ สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของผู้เรียนแต่ละคน
2. ลักษณะเฉพาะ เช่น ทักษะที่มีมาก่อน (prerequitsite skills) ทักษะเป้าหมาย (targer skills) ทักษะในการเรียน (study skills) ทัศนคติ (attitude)

     การกำหนดวัตถุประสงค์ (State Objective) เพื่อสะดวกในการเลือกสื่อและวิธีการที่ถูกต้อง ตลอดจนการจัดลำดับกิจกรรมการเรียน และสร้างสิ่งแวดล้อม หรือประสบการณ์การเรียนรู้ การประเมินผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง
ช่วยให้ผู้เรียนทราบถึงผลแห่งการเรียนรู้และผลแห่งการกระทำหลังจากเสร็จสิ้นบทเรียนแล้ว ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์ ควรประกอบด้วย
1. การกระทำ (performance) เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถกระทำได้ภายหลังจบบทเรียนแล้ว
2. เงื่อนไข (conditions) เป็นข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นโดยรวมอยู่ภายใต้การกระทำ
3. เกณฑ์ (criteria) เพื่อการตัดสินการกระทำนั้นว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่
     การกำหนดวัตถุประสงค์เป็น "วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม" แบ่งออกเป็น
1. พุทธิพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา และการพัฒนา
2. จิตตพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ทางด้านความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก ค่านิยมและการเสริมสร้างทางปัญญา
3. ทักษะพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการกระทำ การแสดงออกหรือการปฏิบัติ

     การเลือก ดัดแปลงหรือออกแบบสื่อ (Select , Modify or Design Materials)
1. เลือกจากสื่อที่มีอยู่แล้ว
2. ดัดแปลงสื่อที่มีอยู่แล้ว
3. การออกแบบสื่อใหม่

     การใช้สื่อ (Ulilize Materials)
     ดูหรืออ่านเนื้อหาในสื่อเหล่านั้นก่อนเป็นการเตรียมตัว จัดเตรียมสถานที่ เตรียมตัวผู้เรียน ควบคุมชั้นเรียน

     การกำหนดการตอบสนองของผู้เรียน (Require Learner Response)
1. การตอบสนองโดยเปิดเผย (overt response) โดยการพูดหรือเขียน
2. การตอบสนองภายในตัวผู้เรียน (covert response) โดยการท่องจำหรือคิดในใจ
     เมื่อมีการตอบสนองแล้วผู้สอนควรให้การเสริมแรงทันทีเพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าตนมีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ ที่ถูกต้องหรือไม่

     การประเมิน (Evaluation)
1. การประเมินกระบวนการสอน ซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งในระยะก่อน ระหว่างและหลังการสอน
2. การประเมินความสำเร็จของผู้เรียน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3. การประเมินสื่อและวิธีการสอน โดยให้ผู้เรียนมีการอภิปราย และวิจารณ์การใช้สื่อ และเทคนิคการสอนว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รศ.ดร.กิดานันท์ มลิทอง : เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม ISBN 974-346-173-6


Home I e - learning I e - library I Photo Gallery I Index