วิธีระบบ (System Approach)


      ความหมายของคำว่า "ระบบ"
      คือ ภาพส่วนรวมของโครงสร้างหรือของขบวนการอย่างหนึ่งที่มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์
ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันอยู่ในโครงการหรือขบวนการนั้น (รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท)
      คือ การรวมสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมายที่มนุษย์ได้ออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อดำเนินงานทั้งหลายให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ (เบวา เอช เบนาที Banathy)

      ลักษณะสำคัญของวิธีระบบ
      1. เป็นการทำงานร่วมกันเป็นคณะของบุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบนั้น ๆ
      2. เป็นการแก้ปัญหาโดยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
      3. เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม
      4. เป็นการแก้ปัญหาใหญ่ โดยแบ่งออกเป็นปัญหาย่อย ๆ เพื่อสะดวกในการแก้ปัญหาอันจะเป็นผลให้แก้ปัญหาใหญ่ได้สำเร็จ
      5. มุ่งใช้การทดลองให้เห็นจริง
      6. เลือกแก้ปัญหาที่พอจะแก้ไขได้และเป็นปัญหาเร่งด่วนก่อน

      องค์ประกอบของระบบ

      1. สิ่งที่ป้อนเข้าไป ( Input )  หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการหรือโครงการต่าง ๆ เช่น  ครู นักเรียน ชั้นเรียน หลักสูตร ตารางสอน วิธีการสอน เป็นต้น
      2. กระบวนการหรือการดำเนินงาน (Process) หมายถึง การนำเอาสิ่งที่ป้อนเข้าไปมาจัดกระทำ เพื่อให้เกิดผลบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  เช่น การสอนของครู การให้นักเรียนทำกิจกรรม เป็นต้น
      3. ผลผลิตหรือการประเมินผล (Output) หมายถึง ผลที่ได้จากการกระทำในขั้นที่สอง ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ผลงานของนักเรียน เป็นต้น

      การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis)
     เป็นวิธีการนำเอาผลที่ได้ (Feed Back) จากผลผลิตหรือการประเมินผล (Evaluation) มาพิจารณาปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า วิธีระบบเป็นขบวนการต่อเนื่อง และีมีลักษณะเช่นเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์

      ขั้นตอนของการวิเคราะห์ระบบ
      ดร.เลห์แมน (Lehmam) ได้กล่าวถึงขั้นตอนของวิธีระบบไว้ดังนี้
      1. ปัญหา (Identify Problem) คือ การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงในการปฏิบัติว่าคืออะไร หาความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่มีอยู่ แล้วมาจัดลำดับและกำหนดระดับความสำคัญของปัญหา
      2.จุดมุ่งหมาย (Objectives) การระบุจุดมุ่งหมายจะต้องชัดเจน สามารถวัดได้ และสอดคล้องกับปัญหา
      3. ศึกษาข้อจำกัดต่าง ๆ (Constraints) เป็นการศึกษาและทำรายการข้อจำกัดเกี่ยวกับทรัพยากร (Resources) ที่มีอยู่
      4. ทางเลือก (Alternatives) คือ การสร้างทางเลือกสำหรับใช้ในการแ้ก้ปัญหา
      5. การพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม (Selection) เป็นการประเมินหาทางเลือกที่จะส่งผลต่อจุดมุ่งหมายที่ต้องการมากที่สุด และด้วยทุนที่น้อยที่สุด
      6. การทดลองปฏิบัติ (Implementation) เป็นการนำเอาทางเลือกที่ได้ไปทดลองเพื่อดูว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่
      7. การประเมินผล (Evaluation) เป็นการประเมินผลการทดลองเพื่อพิจารณาดูว่าได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่
      8. การปรับปรุงแก้ไข (Modification) คือการนำข้อบกพร่องที่พบจากการประเมินผลมาปรับปรุงแก้ไขจนเป็นที่พอใจ แล้วจึงนำไปใช้กับการแก้ปัญหาในระบบ

      ลักษณะของระบบที่ดี
      ระบบที่ดีสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (efficiency) และมีความยั่งยืน (sustainable) ต้องมีลักษณะ 4 ประการคือ
      1. มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (interact with environment) ระบบทุก ๆ ระบบจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบ ๆ ตัวที่ี้ เรียกว่า "สิ่งแวดล้อม" ซึ่งทำให้้ระบบดังกล่าวกลายเป็นระบบเปิด (Open system) คือ ระบบจะรับปัจจัยนำเข้า (input) จากสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงาน อาหาร ข้อมูล แล้วเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้านี้ให้กลายเป็นผลผลิต (output) แล้วจึงส่งกลับไปให้สิ่งแวดล้อมอีกทีหนึ่ง
      2. มีจุดหมายหรือเป้าประสงค์ (purpose) คือ ระบบจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนแน่นอนสำหรับตัวของมันเอง เช่น ระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ก็มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนว่า "เพื่อรักษาสภาพการมีชีวิตไว้ให้ได้ให้ดีที่สุด"
      3. มีการรักษาสภาพตนเอง (self-regulation) ทำได้โดยการแลกเปลี่ยน input และ output กันระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบหรือระบบย่อย เช่น ระบบย่อยอาหารของร่างกายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย หรือระบบย่อยต่าง ๆ เช่น ปาก น้ำย่อย น้ำดี หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ฯลฯ
      4. มีการแก้ไขตนเอง (self-correction ) เพื่อการรักษาสภาพของตนเอง เช่น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอากาศหนาว (สภาพแวดล้อม) อาจจะทำให้เกิดอาการหวัดขึ้นได้ ในสถานการณ์นี้ถ้าระบบร่างกายไม่สามารถที่จะรักษาสภาพตัวเองได้อย่างดี ร่างกายก็จะต้องผลิตภูมิคุ้มกันออกมาต้านหวัดเพื่อที่จะต่อสู้กับอาการหวัดนั้น

http://senarak.tripod.com/system.htm ระบบและวิธีระบบ
http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page02005.asp องค์ประกอบของระบบและวิธีระบบ
http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page02006.asp วิธีระบบกับการเรียนการสอน
http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page02007.asp รูปแบบการสอน
http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page02008.asp การออกแบบการสอน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเกื้อ ควรหาเวช : นวัตกรรมการศึกษา ISBN 974-597-015-8


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Home I e - learning I e - library I Photo Gallery I Index